You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ยุกติ มุกดาวิจิตร: สังคมสัจนิยมอัศจรรย์

คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
 
ผมเคยเขียนงานชิ้นหนึ่งส่งอาจารย์ตอนเรียนปริญญาเอกเมื่อเกือบสิบปีก่อน หนึ่งในความเห็นที่อาจารย์ให้มาคือ "งานคุณอ่านแล้วเป็น magical realism มากเลย" 
 
อาจารย์ผมคนนี้ชื่อ Kirin Narayan เป็นนักมานุษยวิทยาที่เขียนนิยายด้วย เธอสอนวิชาการเขียนกับวิชาคติชนวิทยา ผมเรียนด้วยทั้งสองวิชา ในวิชาคติชนวิทยา ผมเขียนถึงคติความเชื่อเรื่อง "เงือก" ของชาวลาวที่อพยพไปอยู่ที่อเมริกา หลักๆ คือได้สัมภาษณ์พี่หรั่งกับพี่จัน ขอเล่าอย่างสั้นๆ
 
พี่หรั่งกับพี่จันเล่าถึงชีวิตในลาวก่อนสงครามระหว่างอเมริกันกับอินโดจีนที่มีไทยหนุนหลังอเมริกัน สองคนเล่าโดยโยงกับผีเงือกตลอด ผมจึงสนใจอยากรู้ว่า เงือกคืออะไร
 
พี่ทั้งสองบอกว่า เงือกเหมือนงูใหญ่ อาศัยตามวังน้ำ พี่หรั่งเล่าว่าตนเคยถูกผีเงือกเล่นงานบ่อย จากเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ผีเงือกชอบเล่นงานคนทำไม่ดี มีตอนหนึ่งพี่หรั่งเล่าเรื่องผีเงือกถูกพวกคอมมิวนิสต์จับมาฆ่ากลางถนน คนจึงกลัวพวกคอมมิวนิสต์มาก
 
ผมตีความว่า เงือกเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยน "ความดี" ในความหมายที่เล่าผ่านผีเงือกจึงเป็นความสมดุลของการแลกเปลี่ยน การตอบแทนกัน ช่วยเหลือกัน รวมทั้งการไม่เอาเปรียบธรรมชาติ คือความดีที่จะได้รับการคุ้มครอง แต่ผิดจากนี้จะถูกเงือกเล่นงาน ที่น่าสนใจคือท้ายสุด พี่สองคนรู้สึกเหมือนว่า  "ความดี" ได้ถูกทำลายลงด้วยพวกคอมมิวนิสต์
 
ผมถามพี่หรั่งว่า "แล้วในอเมริกามีเงือกไหม" พี่หรั่งบอกว่า "มี มีตัวหนึ่งชอบแปลงกายเป็นผู้หญิงมาตามเล่นงานพี่อยู่บ่อยๆ" พี่หรั่งเล่าอย่างจริงจังพร้อมการสนับสนุนรายละเอียดและความน่าสะพรึงกลัวเป็นระยะๆ จากพี่จัน
 
เรื่องของพี่หรั่งกับพี่จันคงมีความเป็นแมจิค่อล เรียลิสซึ่มในความหมายที่มากกว่าแค่การอยู่กับเงือกอย่างปกติธรรมดา แต่พี่หรั่งกับพี่จันยังบอกเล่าชีวิตหลังยุคสิ้นสุดของความหวังจากมุมของคนที่แทบจะไม่สามารถหวังอะไรได้มากเกินการทำชีวิตประจำวันให้เดินหน้าต่อไป
 
มาร์เกซเขียนถึงการต่อสู้ของประชาชน เขียนถึงความสูญเสียที่กัดกินชีวิตประจำวันของนักต่อสู้ที่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ไร้คนจดตำ เขียนถึงความสูญค่าของการล้มตาย เขียนถึงการจ่อมจมอยู่กับโลกน่าอัศจรรย์ในสายตาชาวโลกสมัยใหม่ แต่ก็กลับเป็นชีวิตอย่างปกติธรรมดาของชาวโลกส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางการติดต่อสังสรรค์กับคนต่างภพ เขียนถึงชีวิตสิ้นหวังหลังการต่อสู้เพื่อความหวัง
 
มาร์เกซคงบอกเล่าชีวิตของคนในยุคนี้ ที่ไม่รู้จะเรียกว่ายุคอะไรดี ได้อย่างจับใจ จนใครๆ ก็อ่านกัน ผมคิดว่า งานมาร์เกซคงไม่จับใจนักปฏิวัติรุ่นก่อนหน้าเขา ที่มีความหวังกับโลก และที่ยังคิดแทน วาดหวังให้ พร้อมอุ้มชูเป็นผู้นำให้กับชนผู้ทุกข์ยาก
 
ผมไม่คิดว่าจะมีนักคิดนักเขียนไทยยุค 60s, 70s คนไหนบ้างที่คร่ำครวญถึงงานมาร์เกซ ผมเดาว่า พวกเขาคงไม่อ่านมาร์เกซ ส่วนคนรุ่นผม ไม่รู้ทำไม งานที่ชวนให้สิ้นหวัง จมปลัก หลอกหลอนตนเองอยู่กับภพภูมิอื่น จึงส่งอิทธิพลให้มากนัก
 
ชีวิตหลังยุคอุดมการณ์ หรือที่บางคนเรียกว่าหลังประวัติศาสตร์ คงไม่เพียงเป็นความสิ้นสุดลงของอุดมการณ์ทางเลือกเพื่อความเสมอภาคแบบคอมมิวนิสต์ แล้วกลายเป็นการครอบงำของประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรอก 
 
ในขณะเดียวกันกับที่นักประชาธิปไตยยุคหลังอาณานิคมกำลังค้นหาแหล่งอ้างอิงประชาธิปไตยใหม่ๆ นอกโลกตะวันตกอยู่ หลังการเข้าร่วมต่อสู้กับนักโฆษณาขายความหวัง ผู้คนจำนวนมากกำลังสิ้นหวัง โดดเดี่ยว จมจ่อมกับชีวิตกึ่งฝันกึ่งจริงในทุกเมื่อเชื่อวัน
- See more at: http://blogazine.in.th/blogs/yukti-mukdawijitra/post/4719#sthash.DbPGWKBD.dpuf

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น