You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สี่นิยายเรื่อง ๒๔๗๕

สี่นิยายเรื่อง ๒๔๗๕
ใจ อึ๊งภากรณ์
2475 ราษฎร
1. การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการ ชิงสุกก่อนห่าม
พวกที่เชื่อนิยายนี้มองว่าประชาชนไทยไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตย ประยุทธ์กับสลิ่มปฏิกูลก็คงมองแบบนี้เช่นกัน แนวคิดนี้เริ่มต้นจากความเชื่อว่าประชาชนธรรมดาไร้การศึกษาและโง่ แน่นอนผู้ที่ตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวถือว่าตนเองเป็นผู้ที่ฉลาดกว่าพวกคนชั้นต่ำทั้งหลายเสมอ และเรามักจะได้ยินคำกล่าวหาจากสำนักนี้ว่าสาเหตุที่ระบบประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันมีการทุจริตซื้อขายเสียงก็เพราะคนยากคนจนขาดการศึกษา แต่แท้ที่จริง การศึกษากับความฉลาดไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการทุจริตกับการซื้อเสียงเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยทุกพรรคเป็นผู้ริเริ่มทำกันเอง หลัง ๒๔๗๕
ความจริงแล้วถ้าเราพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปสู่ระบบรัฐธรรมนูญ ในปี ๒๔๗๕แทนที่จะยังไม่ถึงยุคสุกงอม ต้องถือว่าไทยล้าหลังประเทศอื่นพอสมควรเพราะแม้แต่ประเทศจีนก็ปฏิวัติยกเลิกระบบจักรพรรดิไปแล้ว 21 ปีก่อนการปฏิวัติในไทย
เหล่าประชาชนไทยในยุคก่อน ๒๔๗๕ เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะก่อนหน้านั้นมีการตีพิมพ์บทความและเสนอฎีกาความเห็นจากประชาชนคนสามัญมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในสมัยนั้นและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลกษัตริย์ในการแก้วิกฤตดังกล่าว
จะเห็นว่า กระแสความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจยุคในวิกฤตทุนนิยมครั้งยิ่งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๒ และ ๒๔๗๔ ราคาข้าวในตลาดที่ชาวนาไทยได้รับ ลดต่ำลงอย่างน่ากลัวถึง 60%  ค่าจ้างเฉลี่ยในชนบทถูกลด 50% และสภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปย่ำแย่ ส่วนในเมืองค่าแรงของกรรมาชีพถูกกดลง 20% ระหว่างปี ๒๔๗๔ ถึง ๒๔๗๕  และรัฐบาลได้ประกาศลดเงินเดือนและจำนวนข้าราชการ มีการประกาศขึ้นภาษีกับสามัญชนในขณะที่เจ้าที่ดินและนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลไม่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

2. ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร์เอา ความคิดฝรั่ง ที่ไม่เหมาะกับสังคมไทยมาใช้
นิยายนี้เสนอว่าพวกคณะราษฎร์เป็นพวก “จบนอก” ที่เอาความคิดฝรั่งมาสวมสังคมไทยที่มีประเพณีการอาศัยใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย”
ในประการแรกการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีกษัตริย์เป็นผู้ถืออำนาจสูงสุดไม่ใช่ระบบการปกครองเก่าแก่ของไทย แต่พึ่งประดิษฐ์ขึ้น 60 ปีก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดยรัชกาลที่ ๕ และสาเหตุหนึ่งที่รัชกาลที่ ๕ นำระบบนี้มาใช้กับเมืองไทยก็เพราะมองว่าระบบรัฐรวมศูนย์แบบทุนนิยมที่มีอยู่ในโลกภายนอกเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ของไทย
ในประการที่สองกระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ไปเรียนต่างประเทศ เพราะผู้นำส่วนใหญ่ของคณะราษฎร์ไม่ได้จบจากนอกแต่อย่างใด และปรีดีเองได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อข้าพเจ้ากลับเมืองไทยปี ๒๔๗๐ ชนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยไปต่างประเทศมีความตื่นตัวที่จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

3. การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการกระทำของกลุ่มชั้นนำโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม
นิยายที่สามนี้ถือว่ามีกำเนิดมาจากสำนักคิดที่มองคนชั้นล่างในเมืองไทยเสมือนควายที่ไร้ความสามารถที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ในปัจจุบันคนที่มีความคิดแบบนี้มองว่าวิกฤตการเมืองปัจจุบันเป็นแค่การทะเลาะกันระหว่างทักษิณกับคู่แข่ง โดยมวลชนเสื้อแดงถูกจ้างมาเท่านั้น
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่าในหมู่ประชาชนมีกระแสความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสูง และมีหลักฐานว่าประชาชนชั้นล่างมีส่วนร่วมในการปฏิวัติพอสมควร  แม้แต่ชนชั้นกรรมาชีพก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมาก่อนหน้าการปฏิวัติ ตัวอย่างที่ดีคือ“คณะกรรมกร”ของ ถวัติ ฤทธิเดช ที่สนับสนุนคนงานรถรางและที่มีหนังสือพิมพ์ชื่อ “กรรมกร” คณะกรรมกรถูกก่อตั้งขึ้นในปี ๒๔๖๓ และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าในปี ๒๔๗๕ และในปราบกบฏบวรเดชปี ๒๔๗๖
4. รัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตยไทย
กระแสที่เสนอว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตย เป็นกระแสที่ได้รับการสนับสนุนในแวดวงชนชั้นปกครองไทยในยุคหลังเหตุการณ์รุนแรง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีการสร้างรูปปั้นรัชกาลที่ ๗ ไว้หน้าตึกใหม่ของรัฐสภาไทยในสมัยนั้น ปรากฏการณ์อันนี้ถ้าเปรียบเทียบกับรูปปั้นหน้ารัฐสภาสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรูปปั้นของผู้นำการปฏิวัติที่ล้มอำนาจกษัตริย์อังกฤษ จะเห็นว่าค่อนข้างจะแปลกประหลาด เพราะการเชิดชูผู้นำการปฏิวัติ เช่นผู้นำคณะราษฎร์ ซึ่งเปิดทางให้มีการปกครองแบบใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญน่าจะสมเหตุสมผลทางประวัติศาสตร์มากกว่าการเชิดชูผู้ปกครองระบบเก่าที่ถูกล้มไป แต่หลังการปราบปรามอย่างป่าเถื่อนของชนชั้นปกครองไทยในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ชนชั้นปกครองต้องการที่จะลบล้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมวลชนชาวไทยให้หมดไปจากจิตสำนึกของเรา การล้างจิตสำนึกของประชาชนมีหลายรูปแบบ อีกตัวอย่างคือการไม่ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่เป็นหมุดโลหะซึ่งตั้งไว้บนถนนใกล้ๆ พระรูปทรงม้า และอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงชัยชนะของคณะราษฎร์ในการปราบกบฏบวรเดชที่หลักสี่
สรุป
การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยมภายใต้เผด็จการกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่รัฐทุนนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งอาจมีรูปแบบประชาธิปไตยรัฐสภาหรือเผด็จการก็ได้ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและที่มีประโยชน์กับฝ่ายประชาชนชั้นล่างเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น