You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

17 กุมภาพันธ์ วันประหารแพะแห่งชาติ

17 กุมภาพันธ์ วันประหารแพะแห่งชาติ

เช้ามืด ของวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 นักโทษชายที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง 3 คน ได้ถูกนำตัวไปยังหลักประหารของเรือนจำ คือ เฉลียว ปทุมรส ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 หรือเป็นเวลา 8 ปี 8 เดือน 8 วันก่อนหน้านั้น
การสวรรคต ของในหลวงอานานได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นและสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้าง ประเพณีห้ามพูดเรื่องของกษัตริย์และเป็นโอกาสที่ฝ่ายนิยมกษัตริย์ได้หวนกลับ มารื้อฟื้นทวงคืนอำนาจและอิทธิพลของระบอบราชาธิปไตยให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

หลังจากศาลฎีกาได้ตัดสินให้จำเลยทั้งสามมีความผิดต้องประหารชีวิต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2497 แล้ว พอวันที่ 5 พฤศจิกายน 2497 จำเลยทั้งสามได้ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยยื่นผ่านกรมราชทัณท์ วันที่ 8 ธันวาคม 2497 ฎีกาของทั้งสามถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอพระราชทานชีวิตให้คงไว้
โดยน.ช. เฉลียว อ้างว่า ตนยังมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ตลอดไป ไม่เคยคิดที่จะคิดร้ายแต่อย่างใด ขณะนี้ครอบครัวขาดผู้อุปการะ

น.ช. ชิต อ้างว่า บรรพบุรุษในตระกูลของตน ซึ่งมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นต้นตระกูล ตลอดจนบิดา ได้เคยรับใช้ราชวงศ์ด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต ส่วน น.ช. บุศย์ อ้างว่า ชีวิตของตนได้เติบโตขึ้นมา โดยความอุปการะจากราชตระกูล จึงรับราชการด้วยความจงรักภักดี ครม.มีมติเมื่อ วันที่ 8 ธันวาคม 2497 เห็นชอบตามกระทรวงมหาดไทย ให้นำความเสนอให้เสี่ยเล็กพิจารณา

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2498 หลังการยื่นฎีกามากว่า 3 เดือน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมีจอมพล ผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ได้แจ้งมติรับทราบว่าเสี่ยเล็กให้ยกฎีกานี้

เมื่อนักข่าวสยามนิกรไปถึงบ้านคุณฉลวย ปทุมรสเมื่อเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์นั้น คุณฉลวยได้หยิบหนังสือพิมพ์ออกมาให้ดูโดยที่เธอไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะ ไม่พระราชทานอภัยโทษ เธอตัวสั่นไปทั้งร่าง สะอื้นไห้เพราะกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ เธอต้องเดินทางไปกรมราชทัณฑ์และที่อื่นๆอีกหลายแห่ง ในตอนเที่ยง

เธอกล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “ วันนี้ดิฉันไม่สบายใจเลยค่ะ ไม่สบายใจเลยค่ะ ฉันเพิ่งพบคุณเฉลียวครั้งสุดท้าย เมื่อวันศุกร์ที่ 11 เดือนนี้เอง คุณเฉลียวพูดว่าไม่เป็นไรหรอก จนดิฉันคิดเสียว่าอย่างไรเสียก็คงจะพระราชทานอภัยโทษ คุณเฉลียวพูดว่าตัวเราไม่ทำผิดอะไร เมื่อพบกันครั้งสุดท้ายคุณก็มั่นใจคิดว่าไม่เป็นไร ” เธอใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตาสะอื้น เล่าให้ฟังต่อไปว่า “ เคยมีเพื่อนๆมาแนะนำให้เขาหนี ถามว่าทำไมไม่หลบไปเสีย .... ความบริสุทธิ์ใจของตัวเองแท้ๆ คิดว่าเราบริสุทธิ์ก็คงไม่เป็นไร เลยไม่คิดหนี พูดกันตามความเป็นจริง เวลาที่ขึ้นศาลตั้งสามปี ถ้าคิดจะหลบหนีก็คงพ้น คุณเฉลียวไม่เคยขออะไรมาเป็นพิเศษเลยค่ะ เมื่อวันศุกร์ที่พบกันก็เห็นเฉยๆ มั่นใจว่าจะไม่เป็นไร ในระหว่างรอการราชวินิจฉัย ก็สบายพอควร ..ดิฉันเพิ่งทราบข่าวเมื่อเช้านี้เอง ”

ถึงตอนนี้ ทั้งผู้ต้องโทษและญาติคงหมดความหวังแล้ว เย็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ กรมราชทัณฑ์เริ่มดำเนินการตามระเบียบของการประหารชีวิต
บุศย์ ได้เขียนจดหมายถึงภรรยาก่อนถูกประหาร ดังนี้

16 กุมภาพันธ์ 2498

บุญสม

จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายครั้งสุดท้ายในชีวิตของฉันซึ่งเราจะต้องจากกันโดย ฉันไม่ได้ ทำผิดคิดร้ายอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ก็ต้องตายโดยที่ไม่มีความผิด
ขอสมอย่าได้เสียอกเสียใจ เพราะผัวของสมไม่ได้ตายโดยมีความผิด ตายโดยความอยุติธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างสมรู้ดีฉันบริสุทธิ์เพียงไร แต่เป็นคราวเคราะห์ของฉันที่ต้องตายโดยไม่ได้ทำความผิด
จากนี้ไม่มีอะไรจะพูดอีก นอกจากขอร้องให้สมรักษาตัวให้ดี อย่าสุรุ่ยสุร่ายนัก เพราะสมจะต้องอยู่รักษาตัวต่อไปอีกนานจนกว่าจะที่สุดอายุของสม
อนึ่งในระหว่างที่อยู่ด้วยกันมา ถ้ามีอะไรที่ผิดพลั้งไปบ้าง ก็ขอให้อโหสิด้วย ฉันได้เซ็นชื่อในพินัยกรรมไว้ให้แล้ว ขอให้ใช้ให้เป็นประโยชน์
จากฉันเป็นครั้งสุดท้ายและจะไม่ได้พบกันอีก

บุศย์ ปัทมศริน

กษัตริย์ภูมิพลตัดสินรอลงอาญาคดีลักโม่หิน 26 มค. 2495
ประมาณ 5 โมงเย็น เจ้าหน้าที่เรือนจำบางขวางได้ไปนิมนต์พระเนตร ปัญญาดีโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดบางขวางไปเทศน์ให้นักโทษประหารฟัง นักโทษทั้งสามถูกนำตัวออกจากห้องขังมาทำการตีตรวนข้อเท้าตามระเบียบ

เวลา 22.00 น. ผู้คุมเป็นพยานให้นักโทษทั้งสามเขียนพินัยกรรมหรือจดหมายฉบับสุดท้ายถึงญาติ

ประมาณ ตีสอง เริ่มขั้นตอนประหารชีวิตจริง หัวหน้ากองธุรการเรือนจำอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้นักโทษทั้งสามฟัง และแจ้งว่า “ บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสามแล้ว โดยพระองค์ได้ทรงขอให้คดีดำเนินไปตามตัวบทกฎหมาย ดังที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมชั้นสูงได้ตัดสินไปแล้ว ”

หลังพระเทศน์ นักโทษถูกนำกลับห้อง ทางเรือนจำจัดอาหารมื้อสุดท้ายให้ แต่ไม่มีใครกิน เวลาประมาณ 4.20 น. เฉลียวถูกนำตัวเข้าสู่หลักประหารเป็นคนแรก โดยอยู่ในท่านั่งงอขา หันหลังให้ที่ตั้งปืนกลห่างประมาณ 5 เมตร นักโทษถูกมัดเข้ากับหลักประหาร มือทั้งสองพนมถือดอกไม้ธูปเทียนไว้เหนือหัวมีผ้าขาวมัดไว้ และมีผ้าขาวผูกปิดตา ด้านหน้านักโทษเป็นกองดิน ด้านหลังเป็นฉากผ้าสีน้ำเงิน บังระหว่างนักโทษกับเพชฌฆาต บนฉากผ้ามีวงกลมสีขาวเป็นเป้าสำหรับเพชฌฆาต ซึ่งตรงกับบริเวณหัวใจของนักโทษ

เพชฌฆาตประจำเรือนจำ ยิงปืนกลรัวกระสุน 1 ชุด จำนวน 10 นัด เสร็จแล้วแพทย์เข้าไปตรวจดูนักโทษเพื่อยืนยันว่าเสียชีวิต

หลังการประหารนายเฉลียวประมาณ 20 นาที นายชิตก็ถูกนำตัวมาประหารเป็นคนต่อไปในลักษณะเดียวกัน เมื่อถึงคราวนายบุศย์ เขามีโรคประจำตัวเป็นลมบ่อย และเป็นลมอีกก่อนถูกนำเข้าหลักประหารเล็กน้อย ต้องช่วยให้คืนสติก่อน เพชฌฆาตยิงเสร็จ 1 ชุดแล้ว ตรวจพบว่านายบุศย์ยังมีลมหายใจ จึงยิงซ้ำอีก 2 ชุด โดยยิงรัว 1 ชุด แล้วตามด้วยการยิงทีละนัดจนหมดอีก 1 ชุด ผลจากการยิงถึง 30 นัดนี้ทำให้เมื่อญาติทำศพ พบว่าเหลือเพียงร่างที่แหลกเหลวและมือขาดหายไป

แม้ว่าคงแทบไม่เหลือความหวังว่าสามีจะรอดพ้นการถูกประหารชีวิต แต่บุญสม ปัทมศริน ก็ยังมาที่เรือนจำเพื่อเยี่ยมนายบุศย์ในเช้าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ โดยไม่รู้มาก่อนว่า เขาได้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว คงเป็นระเบียบทางราชการไทย ที่ไม่ประกาศเวลาประหารชีวิตล่วงหน้าไม่ว่ากรณีใด เธอเพิ่งได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่เรือนจำเมื่อมาถึงที่นั่นว่า สามีกับพวกถูกประหารแล้ว

“ ดิฉันทราบโดยบังเอิญ เมื่อเช้านี้เอง เมื่อรู้ก็รีบไปบอกภรรยาคุณเฉลียว แกก็เพิ่งทราบเหมือนกัน ถึงกับเป็นลมเป็นแล้งไปหลายพัก ต่อจากนั้น ดิฉันก็ไปพบภรรยาคุณชิต ไม่พบแก พบแต่ลูกสาว ซึ่งมารับด้วย นี่แกก็คงยังไม่รู้เรื่องแน่ ”
นางบุญสม เล่าอย่างเศร้าหมองต่อไปว่า เธอพบกับนายบุศย์ครั้งสุดท้ายในวันเยี่ยมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว นายบุศย์ได้สั่งซื้อของมากอย่างผิดปกติ ทั้งๆที่เธอและนายบุศย์ก็ยังไม่ทราบว่า จะมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้น

“ ดิฉันก็ได้จ่ายของให้แกครบทุกอย่าง และจะนำมาให้วันนี้อยู่ทีเดียว โธ่ไม่น่าเลยนะคะ จะตายทั้งทีขอให้ได้เห็นใจกันหน่อยก็ไม่ได้ ”

จากตอนสายถึงบ่ายของวันนั้น เมื่อข่าวการประหารชีวิตแพร่ออกไป ญาติ ประชาชน และผู้สื่อข่าว ก็ทะยอยกันมารออยู่บริเวณด้านประตูเหล็กสีแดงที่ใช้สำหรับขนศพผู้ถูกประหาร ชีวิตออกนอกเรือนจำ จนเนืองแน่นบริเวณ บางส่วนไปรออยู่ในลานวัดบางแพรกหลังเรือนจำ ซึ่งปกติศพผู้ถูกประหารจะถูกขนไปฝากไว้

บ่ายสองโมง ชูเชื้อ สิงหเสนี ภรรยานายชิต นั่งรถมาถึงลานวัด ร้องไห้เสียใจอย่างหนัก “ ดิฉันเพิ่งรู้เรื่องเมื่อเที่ยงกว่านี้เอง กำลังไปจ่ายของให้เขาอยู่ทีเดียว พอกลับบ้าน คนบอกถึงได้รู้เรื่อง ” ส่วนฉลวย ปทุมรส หลังจากรู้ข่าวแล้ว เสียใจจนเป็นลมหลายครั้ง ทำให้ไม่สามารถมารับศพด้วยตัวเอง ต้องให้น้องสาวมารับแทน

ประมาณบ่ายสามโมง เจ้าหน้าที่เรือนจำเริ่มขนศพของทั้งสามที่บรรจุในโลงออกมาจากเรือนจำทาง ประตูแดง โดยให้นักโทษ 6 คนเป็นผู้แบกครั้งละโลง ชูเชื้อ ร้องไห้ ผวาเข้าไป โดยมีลูกสาวสองคนคอยช่วยพยุง ศพของเฉลียวถูกนำไปไว้ที่วัดสระเกศ ของชิตที่วัดจักรวรรดิ และบุศย์ ที่วัดมงกุฏ ตามระเบียบราชการ ห้ามญาติจัดงานศพอย่างเอิกเกริกให้กับผู้ที่ถูกประหารชีวิต

เมื่อเสียชีวิต เฉลียว ปทุมรส มีอายุ 52 ปี ชิต สิงหเสนี 44 ปี บุศย์ ปัทมศริน 50 ปี แต่ทั้งสามคนถูกจับขังไร้อิสรภาพตั้งแต่ปลายปี 2490…………..

จบครับ..................

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น