You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

‘ความอยุติธรรม’ในนามของกฎหมาย (1) / โดย ปูนเทพ ศิรินุพงศ์

คอลัมน์ : สนามรบกฎหมาย

ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่า “กฎหมายคือคำสั่งของท่านผู้นำ” การทบทวนความหมายและลักษณะของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่วิชานิติปรัชญานั้น คงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

ทั้งนี้ ปัญหาพื้นฐานอันเป็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันมาหลายร้อยปีในวิชานิติปรัชญา ประการหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายซึ่งถูกบัญญัติขึ้นด้วยกระบวนการรัฐ บัญญัติ กับหลักเกณฑ์หรือคุณค่าบางประการที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ลายลักษณ์อักษรที่เรียก ว่า “กฎหมายธรรมชาติ” ซึ่งอาจอ้างอิงถึงกฎเกณฑ์ทางศาสนา ศีลธรรม หรือความเป็นเหตุเป็นผลที่เป็นสำนึกพื้นฐานของมนุษย์

นักกฎหมายธรรมชาติเห็นว่ากฎเกณฑ์ทั้ง 2 อย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ สำนักกฎหมายธรรมชาติ (Das Naturrecht) เรียกร้องถึงมาตรฐานขั้นต่ำใน “เนื้อหา” ของกฎหมาย ซึ่งอ้างอิงอยู่กับคุณค่าบางประการที่อยู่เหนือกว่ากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์ อักษร เช่น หลักความยุติธรรม หลักความเป็นเหตุเป็นผล เป็นต้น ทั้งนี้ กฎหมายที่ถูกตราขึ้นด้วยกระบวนการนิติบัญญัตินั้นจะขัดหรือแย้งกับหลักการ ดังกล่าวไม่ได้

ในขณะที่นักกฎหมายแบบปฏิฐานนิยม หรือสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Der Positivismus) จำกัดความหมายของ “กฎหมาย” โดยพิจารณาในแง่ของกระบวนการเท่านั้น กล่าวคือ สิ่งที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยองค์กรและอำนาจนิติบัญญัติของรัฐย่อมมีฐานะเป็น กฎหมายเมื่อตราขึ้นด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะมีเนื้อหาอย่างใดก็ตาม

อาจกล่าวได้ว่าในรัฐสมัยใหม่ที่รัฐธรรมนูญถูกให้ความสำคัญเป็นกฎหมายสูง สุดของประเทศ และบังคับใช้กับทุกสถาบันและอำนาจของรัฐ (ConstitutionalState, Verfassungsstaat) แนวความคิดทั้ง 2 สำนักได้ถูกประสานเข้าด้วยกัน โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐานที่บัญญัติคุณค่าและเหตุผลตามธรรมชาติ หลักความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้มีฐานะเป็นกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ ทำให้การตรากฎหมายนอกจากต้องคำนึงถึงกระบวนการที่ถูกต้องแล้วยังต้องเป็นไป ตามเนื้อหาหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ซึ่งมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่รัฐไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้นไม่ได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างเช่นกรณีรัฐเผด็จการ เช่นนี้สิ่งที่เป็น “กฎหมาย” ไม่ว่าผ่านกระบวนการรัฐสภา หรือมาจากคำสั่งของผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นฐานหรืออำนาจที่กระทำให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ในการ ละเมิดหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะมีเนื้อหาอย่างใดๆก็ตาม เช่น ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจำกัดเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวางและเป็นไป โดยไม่เสมอภาค การกำหนดโทษทางอาญาแก่การแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเป็นเพียงการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ใด หรือแม้กระทั่งกฎหมายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการต่อร่างกายหรือ กระทั่งต่อชีวิตของบุคคลอย่างเกินสมควรแก่เหตุในกรณีที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้า หน้าที่รัฐ

แน่นอนว่าในสถานการณ์ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้ “รัฐเผด็จการ” คงเป็นไปได้ยากที่บุคคลจะเรียกร้องหรือค้นหาความเป็นธรรมภายใต้ระบอบดัง กล่าว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยในเวลาต่อมา จะเป็นไปได้หรือไม่ที่บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาศัยอำนาจกระทำไปตาม “สิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย” นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหาย หรือกระทั่งให้ดำเนินคดีอาญากับการกระทำของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการกระทำต่อเสรีภาพ หรือกระทั่งความผิดอาญาต่อร่างกายหรือชีวิต? เช่นนี้เจ้าหน้าที่รัฐจะอ้าง “สิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย” นั้นมาเป็นเหตุให้ตนมีอำนาจกระทำและปราศจากความผิดได้หรือไม่?

ในประเทศเยอรมนีเคยมีกรณีที่ปรากฏ “ความอยุติธรรมในรูปแบบของกฎหมาย” อยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสมัยการปกครองในยุคของระบอบเผด็จการนาซี หรือการปกครองในประเทศเยอรมันตะวันออก

ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ กฎหมายในประเทศเยอรมันตะวันออก ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณชายแดนระหว่างเยอรมัน ตะวันออกและตะวันตกสามารถยิงบุคคลที่พยายามข้ามแดนจากฝั่งเยอรมันตะวันออก ให้ถึงแก่ชีวิตได้

นี่คือ “สิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย” ซึ่งเคยมีอยู่แล้วจริงๆ และภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตจริง เนื่องจากความพยายามที่จะข้ามกำแพงเพื่อไปยังดินแดนฝั่งตะวันตก

หลังจากการล่มสลายของประเทศเยอรมันตะวันออกและมีการรวมประเทศอีกครั้ง ได้มีการเปิดกระบวนการพิจารณาคดีกับบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งยิงประชาชนที่ พยายามข้ามกำแพงจนถึงแก่ชีวิตในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งฐานความผิดดังกล่าวนั้นมีอยู่ในกฎหมายอาญาของทั้งประเทศเยอรมันตะวันตก และตะวันออก

อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าหน้าที่ได้อ้างกฎหมายของเยอรมันตะวันออกเป็นเหตุให้ตนมีอำนาจกระทำ การดังกล่าวได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วต้องถือว่าการกระทำที่ได้กระทำไปโดยอาศัยอำนาจของ กฎหมายนั้น แม้จะครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แต่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำ ซึ่งถือเป็นเหตุยกเว้นความผิดได้

คำถามที่สำคัญก็คือ ในสถานการณ์เช่นนี้เราจะพิจารณาอย่างไรเพื่อให้ความเป็นธรรมกับบรรดาบุคคลที่ถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรมโดย “สิ่ง ที่เรียกว่ากฎหมาย” นักกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษาซึ่งตัดสินคดีดังกล่าวนั้นต้องผูกพัน ตนและตัดสินคดีไปตาม “สิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย” ดังกล่าวนั้นหรือไม่ แม้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “สิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย” นั้นขัดกับหลักความยุติธรรมอย่างร้ายแรง และขัดกับความเป็นเหตุเป็นผลในสำนึกของความเป็นมนุษย์ 

ในช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1946) มีนักกฎหมายชาวเยอรมันชื่อ Gustav Radbruch ได้พยายามอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “กฎหมาย” กับ “คุณค่าของความยุติธรรม” โดยเขียนบทความเรื่อง “ความอยุติธรรมในรูปของกฎหมาย และความยุติธรรมที่อยู่เหนือกฎหมาย (Gesetzliches Unrecht und übergesetzliches Recht)” แม้ในขณะที่เขียนนั้นจะมุ่งเฉพาะปรากฏการณ์ในยุคเผด็จการนาซี แต่คุณค่าของบทความชิ้นนั้นถือว่ายังคงดำรงอยู่และเป็นวัตถุในการศึกษาจนถึง ปัจจุบัน

อิทธิพลของแนวความคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลเยอรมันในสมัย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลภายหลังการรวมประเทศ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเผยแพร่บทความนั้นมากกว่า 40 ปี

น่าสนใจว่าเมื่อผู้พิพากษาต้องเผชิญกับ “ความอยุติธรรมในรูป ของกฎหมาย” นั้น ผู้พิพากษาจะชั่งน้ำหนักอย่างไรระหว่างคุณค่าของ “ความยุติธรรม” และ “ความมั่นคงแน่นอนของกฎหมาย” 
http://www.lokwannee.com/web2013/?p=75728

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น